+66 (0)9 3789 -1313
อิ๊กซี่ (ICSI) วิธีการทำเด็กหลอดแก้วที่ให้ผลดีกว่า IVF


การทำ ICSI

การทำ ICSI หรือที่เรียกว่า “อิ๊กซี่” เป็นกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วแบบหนึ่ง ที่ช่วยแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากทั้งจากฝ่ายหญิงและฝ่ายชายได้ดีมาก ทั้งยังเป็นวิธีการแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากที่ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จสูงที่สุดอีกด้วย แล้ว ICSI คืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง? 

ในบทความนี้ ทีม BNH จะมาให้ความรู้และตอบทุกคำถามเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว ICSI

อิ๊กซี่ ICSI คืออะไร

อิ๊กซี่ หรือ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) คือวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว ที่จะคัดเลือกตัวอสุจิ (Sperm) ที่แข็งแรง สมบูรณ์ที่สุด 1 ตัว เพื่อผสมกับไข่ (Ovum) 1 ใบ จนเกิดเป็นตัวอ่อน (Blastocyst) ซึ่งจะผสมไข่กับอสุจิโดยการใช้เข็มขนาดเล็กฉีดอสุจิเข้าไปที่ไข่โดยตรงภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง ทำให้เกิดการผสมที่แน่นอนมากกว่าวิธีการผสมตัวอ่อนวิธีอื่นๆ
เมื่อได้ตัวอ่อนแล้ว จะเพาะเลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการเป็นเวลาประมาณ 5 วัน จากนั้นจึงย้ายตัวอ่อนเข้าไปที่โพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวที่เยื่อบุผนังมดลูก และเติบโตเป็นทารกในครรภ์ (Fetus) ต่อไป

อิ๊กซี่ (ICSI) กับ IVF แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ขั้นตอนการทำ ICSI

IVF คืออะไร? IVF (In-Vitro Fertilization) คือการทำเด็กหลอดแก้วอย่างหนึ่ง ที่มีขั้นตอนทุกอย่างเหมือนกันกับการทำ ICSI เพียงแต่แตกต่างกันที่ขั้นตอนการปฏิสนธิ เพราะ IVF ไม่ได้ใช้อสุจิฉีดเข้าไปในไข่อย่างเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการนำไข่และอสุจิหลายตัวมาไว้ในพื้นที่เดียวกัน และให้อสุจิที่ผ่านการคัดเลือกแล้วแข่งกันเจาะไข่เพื่อปฏิสนธิเองตามธรรมชาติ
แล้วการทำ ICSI vs IVF อะไรดีกว่ากัน? การทำอิ๊กซี่หรือ ICSI นั้นดีกว่าการทำ IVF เนื่องจากโอกาสทำ IVF สำเร็จนั้นมีน้อยกว่า ขั้นตอนของการทำเด็กหลอดแก้วทั้งสองชนิดต่างกันแค่ที่วิธีการปฏิสนธิก็จริง แต่การปล่อยให้อสุจิผสมกับไข่เองของ IVF อาจผิดพลาดได้จากหลายสาเหตุ
ข้อผิดพลาดโดยส่วนใหญ่มาจากการที่ไข่จากฝ่ายหญิงอาจจะหนาเกินไป หรือจากเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้อสุจิไม่สามารถเจาะเข้าไปในไข่เพื่อปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนได้ การฉีดอสุจิเข้าไปโดยตรงด้วยวิธีการทำ ICSI จึงสามารถเพิ่มโอกาสปฏิสนธิสำเร็จได้มากกว่า

ทำไมถึงต้องทำ ICSI

การทำ ICSI เป็นการแก้ปัญหามีบุตรยาก จากทั้งทางฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย โดยคู่สมรสที่ควรทำ ICSI ได้แก่

  1. ฝ่ายหญิงเกิดภาวะมีบุตรยาก (Infertility) อย่างเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ (Endometriosis), ท่อนำไข่ตันหรือเสียหาย (Fallopian tube damage or blockage), ภาวะตกไข่ผิดปกติ (Ovulation disorders), มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ หรือจากสาเหตุอื่นๆ

  2. ฝ่ายหญิงผ่านการทำหมัน (Female sterilization) ด้วยการผูกท่อนำไข่ ตัดท่อนำไข่ หรือทำให้ท่อนำไข่อุดตัน

  3. ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งอาจมีผลต่อปริมาณของไข่ คุณภาพของไข่ และผู้หญิงอายุมากอาจจะมีผนังไข่ที่หนากว่าปกติ อสุจิเจาะเข้าไปในไข่ไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิด้วยวิธีการอื่นได้นอกจากการทำ ICSI

  4. ฝ่ายชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำเชื้อทั้งเรื่องคุณภาพ ปริมาณ รูปร่าง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาอสุจิเคลื่อนไหวไม่ดี (Abnormal sperm production or function)

  5. ฝ่ายชายที่ทำหมัน (Vasectomy) ด้วยการผูกท่อนำน้ำอสุจิไปแล้ว

  6. คู่สมรสที่ลองใช้วิธีแก้ปัญหามีบุตรยากด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การนับวันมีเพศสัมพันธ์ การทำ IVF และ IUI แล้วไม่สำเร็จ

  7. ผู้ที่ต้องการตั้งครรภ์จากไข่ที่ฝากไข่ไว้ (Oocyte Cryopreservation)

โอกาสสำเร็จมากแค่ไหนสำหรับ ICSI (Success Rate)

การทำอิ๊กซี่ เป็นวิธีการทำเด็กหลอดแก้วที่ได้ผลดีมากที่สุด โอกาสสำเร็จจึงมีสูงที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีการแก้ปัญหามีบุตรยากแบบอื่นๆ 

โอกาสปฏิสนธิสำเร็จของการทำ ICSI อยู่ที่ 50 – 80% ซึ่งนับว่าสูงมาก หลายคนอาจคิดว่าการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่โดยตรงควรจะให้ผลการปฏิสนธิได้ 100% แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่อสุจิถูกฉีดเข้าไปในไข่ บางกรณีเซลล์ไข่อาจไม่ได้แบ่งตัวและกลายเป็นตัวอ่อน ทำให้โอกาสการผสมยังคงไม่ถึง 100% แต่ก็ยังมีโอกาสสูงกว่าการทำ IVF

ส่วนโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของฝ่ายหญิงเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งอายุมาก มดลูกเสื่อม โอกาสที่จะตั้งครรภ์สำเร็จก็จะยิ่งน้อยลง โดยผู้ที่อายุไม่เกิน 35 ปี โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จจะอยู่ที่ 30 – 40% โอกาสจะลดลงเรื่อยๆตามอายุ เมื่ออายุเกิน 40 ปี โอกาสตั้งครรภ์จะอยู่ที่ 10 – 20% เท่านั้น นอกจากนี้ก็จะขึ้นอยู่กับคุณภาพตัวอ่อน และสุขภาพของคุณแม่ที่อุ้มท้อง

ทั้งนี้ โอกาสตั้งครรภ์สำเร็จสามารถเพิ่มขึ้นได้หากเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก และเลือกทำเด็กหลอดแก้ว ICSI ที่โรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีแพทย์เฉพาะทางด้านมีบุตรยาก นักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่มีประสบการณ์ ดังนั้นการเลือกโรงพยาบาลสำหรับทำ ICSI จึงสำคัญมาก

ใส่ความเห็น
Your email address will not be published. Required fields are marked *